ประเด็นร้อน

สัญญาณอันตราย ของข้อตกลงคุณธรรม

โดย ACT โพสเมื่อ Aug 06,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก โพสต์ทูเดย์ - -

 

คอลัมน์ คิดเป็นเห็นต่าง : โดย พิษณุ พรหมจรรยา ที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)

 

ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับความโปร่งใสของโครงการขนาดไม่ใหญ่ไม่เล็กของรัฐบาลที่ผมติดตามด้วยความเป็นห่วง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับโครงการนี้กำลังส่อเค้าว่าข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ซึ่งรัฐบาลคุยไว้ว่าเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นโบแดงในด้านการสร้างความโปร่งใสและป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น อาจจะเป็นแค่ "กระสุนด้าน" ที่นอกจากจะไม่มีประสิทธิภาพในการสร้างความโปร่งใสแล้ว ยังอาจหมายถึงความสูญเปล่าของการประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ใช้เวลาหลายปีร่วมกันผลักดันข้อตกลงคุณธรรมขึ้นมาจนเป็นรูปเป็นร่างอย่างทุกวันนี้ด้วย

 

โครงการที่กำลังพูดถึงอยู่นี้ก็คือโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2) วงเงิน 7,000 ล้านบาท ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ซึ่งมีความพยายามผลักดันให้เดินหน้าต่ออย่างเต็มสูบ แม้ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบโครงการนี้จะชู "Red Flag" หรือชี้ประเด็นที่น่าเคลือบแคลงเกี่ยวกับเรื่องของความถูกต้องโปร่งใส ซึ่งตามปกติแล้วทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบและรัฐบาลสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างละเอียดรอบคอบ และเคลียร์ข้อสงสัยต่างๆ ให้เรียบร้อยก่อนที่จะไฟเขียวให้โครงการเดินหน้าต่อได้

 

Red Flag ที่ใหญ่ที่สุดก็คือการลาออกทั้งคณะของคณะผู้สังเกตการณ์อิสระ 6 ราย ที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) หรือ ACT ส่งเข้าไปร่วมสังเกตการณ์โครงการนี้ตามข้อตกลงคุณธรรม โดยระบุเหตุผลของการลาออกว่า ตั้งแต่เริ่มเข้ามาทำหน้าที่เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2560 หน่วยงานเจ้าของโครงการไม่ได้ให้ความสนใจและไม่ตอบสนองต่อ "รายงานการแจ้งเตือน" ที่ส่งไปถึง 4 ฉบับ รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ของผู้สังเกตการณ์ ที่พบเห็นการ กระทำที่ก่อให้เกิดข้อกังขาเกี่ยวกับความโปร่งใส ไม่เป็นธรรม ผิดขั้นตอนของกฎหมาย รวมถึงความคุ้มค่าที่ประเทศสมควรได้รับ แถมยังระบุอีกด้วยว่าหากปฏิบัติหน้าที่ต่อไปก็ไม่เกิดประโยชน์และเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ

 

ข้อตกลงคุณธรรมเป็นเครื่องมือป้องกันคอร์รัปชั่นในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือและยินยอมให้ผู้ทรงคุณวุฒิที่ผ่านการคัดเลือกจากภาคประชาชน เข้าร่วมสังเกตการณ์และตรวจสอบโครงการนั้นได้ทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มจนสิ้นสุดสัญญา

 

ซึ่งเมื่อมาดูรายชื่อคณะผู้สังเกตการณ์ทั้ง 6 รายที่ยื่นลาออกนั้น ก็พบว่าล้วนแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการยอมรับนับถือจากสังคมทั้งในแง่ของความรู้ความสามารถและจริยธรรมทั้งสิ้น ได้แก่

 

1.ดร.สุวิทย์ วิบูลย์เศรษฐ์

2.พล.ต.ต.แสงชัย สุวัฒนภักดี

3.นางชไมพร ตันติวงศ์

4.รศ.ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์

5.ดร.ธีรพล กาญจนากาศ และ 6.น.ส.โสตถิยา อ่อวิเชียร

 

ในอดีตที่ผ่านมา ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดจากการที่รายละเอียดทุกอย่างถูกเก็บเป็นความลับ ไม่มีบุคคลที่สามร่วมรู้เห็นหรือตรวจสอบ เพราะฉะนั้นผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐกับบริษัทเอกชนที่รับงาน จึงสามารถทำความตกลงกันแบบมุบๆ มิบๆ อย่างเช่นกำหนด TOR แบบล็อกสเปก กำหนดเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยให้ผู้รับงานภาคเอกชนสามารถเอาเปรียบภาครัฐ หรือได้ประโยชน์จากสัญญาจัดซื้อจัดจ้างแบบเกินสมควร โดยไม่มีผู้อื่นมารับทราบหรือตรวจสอบ แต่เมื่อมีผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม ทุกขั้นตอนจะอยู่ในสายตาของบุคคลภายนอก และจะมีการรายงานต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากมีการกำหนดเงื่อนไขแบบตุกติก ก็จะไม่ได้เป็นสิ่งที่รู้กันเพียงหน่วยงานผู้จ้างกับผู้รับจ้างอีกต่อไป ทำให้โอกาสที่จะเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นลดลง

 

ข้อตกลงคุณธรรมเป็นเครื่องมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มมีการนำมาใช้ในประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้ โดยปัจจุบัน "ข้อตกลงคุณธรรม" ถูกกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2560 มีผู้ทรงคุณวุฒิที่อาสาทำหน้าที่ผู้สังเกตการณ์ 273 คน มีโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่ถูกกำหนดให้ใช้กลไกนี้แล้ว 73 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 8 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ 8 โครงการจบสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ช่วยให้การจัดซื้อจัดจ้างมีประสิทธิภาพและความโปร่งใสดีขึ้นมาก

 

หลังการลาออกของคณะผู้สังเกตการณ์ ทาง ACT ก็ได้ประสานงานเพื่อนำคณะผู้สังเกตการณ์เข้าพบนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อหารือถึงปัญหาที่พบ และนายสุวิทย์ก็รับปากว่าจะ แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงของปัญหาที่เกิดขึ้น

 

เราคงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่ารัฐบาลจะดำเนินการกับโครงการนี้อย่างไร เพราะจะเป็นบรรทัดฐานสำหรับโครงการอื่นๆ ที่ใช้ข้อตกลงคุณธรรมด้วย ทั้งนี้ผู้สังเกตการณ์อิสระที่เข้าไปติดตามโครงการต่างๆ ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะสั่งการใดๆ ได้ ทำได้เพียงแค่ส่ง "รายงานการแจ้งเตือน" เมื่อพบความผิดปกติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบเท่านั้น และหากรายงานที่เสนอไปไม่ได้รับการตอบสนอง วิธีการแสดงออกขั้นสุดท้ายที่รุนแรงที่สุดก็คือการลาออก

 

สำหรับในกรณีนี้ ต้องถือว่าการลาออกของผู้สังเกตการณ์ทั้งคณะเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากว่าโครงการนี้สมควรต้องถูกตรวจสอบอย่างละเอียดก่อนที่จะเดินหน้าต่อไปได้ ถ้ารัฐบาลยังเพิกเฉยและไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ก็ถือเป็นสัญญาณอันตรายว่าข้อตกลงคุณธรรมอาจจะไม่ได้เป็นเครื่องมือป้องกันการคอร์รัปชั่นที่มีประสิทธิภาพจริงๆ แต่เป็นแค่เครื่องมือประโคมผลงานของรัฐบาลเท่านั้น

 

ถ้าหากจะต้องลำบากคัดเลือกผู้สังเกตการณ์ที่ทรงคุณวุฒิ และเพียบพร้อมด้วยจริยธรรมไปตรวจหาความผิดปกติในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แต่พอตรวจพบแล้วรายงานขึ้นไปก็ไม่มีการดำเนินการอะไร หรือแม้กระทั่งลาออกทั้งคณะแล้วก็ยังไม่มีการตอบรับอีก คงต้องมาทบทวนเรื่องข้อตกลงคุณธรรมกันใหม่อย่างจริงจังแล้วละครับว่าจะไปกันต่อท่าไหน ในฐานะที่ CAC เป็นหนึ่งในองค์กรที่ร่วมผลักดันและสนับสนุนให้มีการนำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้ ผมบอกตรงๆ ว่าเสียดายของมากครับ

 

 
 
 

#ร่วมเป็นพลเมืองตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw